วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ลำดับขั้นในการสร้างงานวาดเส้น


๑.     ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมในการวาดภาพ  การเตรียมใจ หมายถึง มีใจพร้อมที่จะวาดภาพ  และการเลือกมุมมอง  ดูทิศทางที่แสงเข้าและเงาตกทอดที่ชัดเจน
๒.    ขั้นร่างภาพ  การร่างภาพเป็นส่วนสำคัญของการวาดเส้น  เพราะถือว่าเป็นการเริ่มต้นของโครงร่างของภาพทั้งหมด  ถ้าร่างได้เหมาะสมกับหน้ากระดาษ การลงน้ำหนักหรือแรเงาจะง่ายขึ้น  เริ่มแรกคือการหาส่วนรวมของภาพ จะทำให้เรากำหนดตำแหน่งของส่วนละเอียดให้ถูกต้องขึ้น
๓. ขั้นลงน้ำหนัก  เพื่อให้การลงน้ำหนักเหมือนของจริง ต้องสังเกต น้ำหนัก แสงและเงาในตัววัตถุที่เราเตรียมลงน้ำหนัก ดูจากข้อแสงและเงา  การลงน้ำหนักมี ๒ ลักษณะ คือ
- การลงน้ำหนักตามหลักการของแสงอาทิตย์  ลงน้ำหนักให้แสงเงาเหมือนจริง
- การลงน้ำหนักตามความรู้สึก  แสดงถึงความสามารถในการคิดสร้างสรรค์รูปร่างและรูปทรงขึ้นใหม่  จากความคิดและความรู้สึกอันทำให้ได้ความงามที่แปลกออกไป

การวาดเส้น  มีเรื่องของแสงและเงาเป็นหลักสำคัญ  เป็นพื้นฐานแรกของการเข้าสู่การทำงานทางด้านทัศนศิลป์และออกแบบ  เป็นการแสดงออกโดยการสร้างภาพให้มองเห็นความคิดและความรู้สึก ของผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

ก่อนเขียนรูปควรสังเกตดูลักษณะของวัตถุ

๑. รูปทรง ขนาด ระยะ สังเกตรูปทรงและขนาดของภาพให้ดี  หากเราย่อหรือขยายสัดส่วนโดยสังเกตจากหุ่นที่ใกล้เคียง เปรียบเทียบ ขนาด ระยะ ความสูงต่ำ

๒. แสงและเงา ทิศทางที่แสงตกกระทบหุ่น แสงมีหลายลักษณะ คือ
- แสงสว่างที่สุด (Highlight) อยู่ในส่วนที่รับแสงโดยตรง
- แสงสว่าง (Light) อยู่ในส่วนรับอิทธิพลของแสง
- เงา (Shadow) อยู่ในส่วนรับอิทธิพลของแสงน้อยมาก
- เงามืด (Core of Shadow) อยู่ในส่วนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงเลย
- แสงสะท้อน (Reflects Light) บริเวณของวัตถุที่ไม่ได้รับแสงโดยตรง แต่เป็นการสะท้อนของแสงจากวัตถุใกล้เคียง

-
เงาตกทอด (Cast Shadow) บริเวณที่เงาของวัตถุนั้น ๆ ตกทอดไปตามพื้นหรือตามวัตถุอื่นที่รองรับน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน


๓. ผิว  สังเกตหุ่นว่ามีลักษณะผิวอย่างไร เช่น
- ผิวด้าน เช่น กิ่งไม้แห้ง ใบไม้แห้ง เครื่องปั้นดินเผา หุ่นผิวลักษณะนี้แสงจะต้องนุ่มนวล จากแสงอ่อนไปจนถึงแก่จัด
- ผิวมัน เช่น ผลไม้สด เซรามิค ภาชนะพลาสติก  หุ่นผิวประเภทนี้จัดเป็นจุดและแสงจะต้องขาวไม่ว่าหุ่นจะเป็นอะไรก็ตาม
- ผิวใส เช่น แก้วน้ำ ขวดใส ถุงพลาสติกใส่อาหาร โหลแก้ว  หุ่นประเภทนี้ต้องเขียนให้ใสมองทะลุถึงวัตถุที่อยู่ด้านหลังของหุ่นจะมีความแวววาวมาก

๔. น้ำหนัก

๕. องค์ประกอบของภาพ คือ การจัดวางภาพและหน้ากระดาษให้เหมาะสมกัน โดยไม่ให้ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป

สิ่งที่ควรฝึกตนเองก่อนเริ่มลงมือวาดรูป

ขั้นแรกให้หัดเขียน เส้นนอน เส้นตั้ง เส้นเฉียง ซ้ำ ๆ กันให้คล่องมือ
หลังจากนั้นให้หัดแรเงาตามรูปทรง  โดยใช้เส้นตรงวางให้ชิดเป็นแนวเดียวกัน ใช้วิธีเหวี่ยงข้อมืออย่างเร็วทั้งขึ้นและลง


ฝึกเขียนเลียนแบบจากที่สายตามองเห็น  และลองขยายต้นแบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และย่อส่วนจากแบบ สามารถทำให้เกิดภาพลวงตา บอกระยะได้

การฝึกสมาธิให้ใจสัมพันธ์กับมือ  โดยการลงซ้ำบนรอยเดิมค่อย ๆ ทำเวลาให้เร็วขึ้น



รูปแบบของงานวาดเส้น

รูปแบบในงานวาดเส้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ


1.รูปแบบรูปธรรม (REALISTIC)
     
เป็นการวาดภาพลอกเลียนแบบธรรมชาติที่ผู้ว่าถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และความรู้สึกในบรรยากาศที่ผู้วาดได้แสดงออกทางรูปแบบและเทคนิคต่างๆ ด้วยวิธีการของตนเองลงบนชิ้นงาน จากความรู้สึกและความชำนาญในด้านเทคนิดนั้นๆ ให้เกิดความเหมือนจริงตามธรรมชาติได้มากที่สุด



2.รูปแบบกึ่งนามธรรม (SEMI- ABTRACT)
     
เป็นการวาดภาพที่ใช้การตัดทอนหรือเพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้ เกิดรูปแบบ รูปร่าง รูปทรง เกิดงานทางศิลปะ ตามแนวทางและความต้องการของผู้วาด ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการลงบนชิ้นงาน



3. รูปแบบนามธรรม (ABSRTACT)
     
เป็นการวาดภาพเพื่อสนองตอบอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของผู้วาด ที่เน้นในเรื่องของเทคนิคต่างๆ ที่มีความชำนาญ ทั้งในเรื่องการใช้สี การลงสี รูปแบบที่แสดงของพื้นผิวภาพโดยตรง ให้เกิดภาพตามความนึกคิดและจินตนาการของผู้วาดได้อย่างอิสระ ตรงตามเป้าหมายที่ผู้วาดเป็นคนกำหนด ทางด้านรูปแบบเทคนิคและวิธีการวาด

วัสดุอุปกรณ์ในการวาดเส้นขั้นพื้นฐาน





1.  กระดานรองเขียน (DRAWING BOARD)
     
ขนาดประมาณ 40 x 60 ซม. (A2) ควรเป็นกระดานที่มีพื้นผิวเรียบ มีน้ำหนักเบาสะดวกแก่การพกพา ขนาดใหญ่กว่ากระดาษเล็กน้อย เมื่อหนีบกระดาษติดกับกระดานแล้ว กระดาษไม่ควรเกินออกมานอกกระดาน เพราะกระดาษส่วนที่เกินออกมาจะเกิดการยับ และเสียหายได้ง่าย

2.  กระดาษ (PAPER)
     
สำหรับวาดเส้น มีหลายชนิดสามารถเลือกใช้ได้ ตามเทคนิคของการวาดเส้นซึ่งต้องดูคุณสมบัติและความเหมาะสม เช่น น้ำหนัก การซึมซับ และผิวสัมผัส

3. ยางลบ (ERASER)
     
มีทั่งแบบแข็งมาก แข็งน้อย และนิ่มเหมือนดินน้ำมันสามารถปั้นและแต่งรูปแบบได้ แล้วเลือกใช้ตามเทคนิคของภาพที่วาด

4. ตัวหนีบกระดาษ (BUILDING CLIP)
     
ตัวหนีบกระดาษ ใช้หนีบกระดาษให้ติดกับกระดานรองวาด ไม่ให้ขยับเขยื้อนในเวลาที่ทำการวาดส่วนมากใช้แค่ 2- 4 ตัว

5.  มีดเหลาดินสอ (CUTTER)
     
มีดเหลาดินสอ นิยมใช้มีดคัตเตอร์ เพราะมีความคมมากกว่ามีดธรรมดาสามารถเปลี่ยนใบมีดได้เมื่อหมดคมและยังสามารถ เลื่อนเก็บใบมีดเข้าใน เพื่อป้องกันอันตรายได้

6.  ดินสอ (PENCILS)
     
ที่ใช้ในการวาดภาพมีด้วยกันหลากหลายชนิด และหลากหลายเบอร์คงกำหนดไม่ได้ว่าชนิดไหนหรือเบอร์ไหนดีที่สุด ขึ้นอยู่กับผู้วาดที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานและความต้องการ ดินสอที่นิยมใช้ในการวาดเส้น และเหมาะแก่ผู้ฝึกใหม่ คือ ดินสอ EE ซึ่งมีความดำมากเป็นพิเศษ สามารถลงน้ำหนักบริเวณที่ต้องการความเข้มได้ดี

7. ที่ต่อดินสอ (PENCIL EXTENTION)
     
ที่ต่อดินสอใช้ต่อดินสอที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จนมีขนาดสั้นลงเรื่อยๆ แล้วทำให้ไม่สามารถนำมาใช้งานได้สะดวกนัก จึงมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานดินสอในขนาดที่เหมาะมือ และเป็นการประหยัดดินสอได้เป็นอย่างดี


ความหมาย Drawing

การวาดเส้น (Drawing) เพื่อฝึกฝนทักษะขั้นพื้นฐาน

วาดเส้น (Drawing) เป็นวิธีการสร้างภาพเพื่อสื่อความหมายทางการมองเห็นรูปร่างของวัคถุ สิ่งของ บรรยาการศ และการเกิดมิติของภาพในขั้นเริ่มแรก คือ ปัจจัยขั้นพื้นฐาน ซึ่งเราต้องการแสดงออกหรือนำเสนอ ในบางอย่างที่เป็นรูปแบบของเราออกมา หรือเป็นการแสดงออกด้านอารมณ์ให้ผู้อื่นรับรู้จากภาพของผู้วาด และรูปภาพธรรมชาติ ฯลฯ
      วาดเส้นเป็นพื้นฐานของงานทัศนศิลป์และออกแบบด้วย เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่ง ศิลปะไทย ลายรดน้ำ เป็นต้น ก่อนที่เราจะสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างมา จึงทำให้เราจำเป็นที่จะต้องมีความชำนาญทางการวาดเส้นให้แม่นยำเสียก่อน และเมื่อมีความชำนาญทางการวาดเส้นแล้วก็จะทำให้การทำงานศิลปะต่างๆ ง่ายขึ้น